Monday, December 16, 2013

วา (โบราณ)


ระยะทาง ๑ วา ยาวเท่าไรกันแน่ ?

ใครๆ ก็รู้ว่า ปัจจุบันเราถือว่า ๑ วา ยาวเท่ากับ ๒ เมตร
วา เป็นมาตราวัดระยะไทย แต่ เมตร (meter) เป็นมาตราเมตริก ถ้าเราใส่ตัวเลขละเอียดลงไปเป็น
๑.๐๐ วา เท่ากับ ๒.๐๐ เมตร ตอนนี้บางคนอาจจะเริ่มสังเกตว่า เอ๊ะเป็นไปได้อย่างไร โอกาสที่การวัดระยะสองหน่วยจะเท่ากันเป๊ะโดยบังเอิญเป็นไม่มี  ในสมัยก่อนนั้น ถ้าไม่มีอะไรเป็นไม้บรรทัดมาตราฐานไว้เทียบ คงไม่เท่ากันอย่างนั้น และก็เท่าที่รู้ ไทยโบราณสมัยอยุธยาหรือสุโขทัยเราไม่เคยมีหน่วยงานชั่งตวงวัด ถ้ามีก็ไม่น่าเท่ากันกับระบบเมตริก

คำเฉลยก็คือ การเท่ากันนี้ เป็นไปโดยนิยามตามกฎหมาย หมายความว่าเป็นผลจาก พระราชบัญญัติชั่งตวงวัด กำหนดไว้ให้เท่าตามนั้น ซึ่งดูเหมือนออกมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่เทียบมาตราส่วนไทยเข้ากับระบบเมตริก
ถ้าอย่างนั้นก็ถามว่า ก่อนสมัย ร. ๖ หรืออาจจะพูดไปถึงว่า สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ ระยะทาง ๑ วาเรายาวเท่าไร ?

คำตอบหาได้อย่างน้อย ๒ ทาง เท่าที่ผมรู้
๑  คำไทยโบราณ มีคำกล่าวโบราณว่า “ร่างกายคน กว้างศอก ยาววา หนาคืบ” เราอาจได้ยินคำกล่าวนี้เวลาพระเทศน์ ระยะทาง ๑ วาก็คือ ความสูงของคนนั่นเอง ถามว่า คนสูงเท่าไร ดูเหมือนว่าคนไทยโบราณที่เป็นนักรบจะมีร่างกายสูงพอสมควร สมมุติว่าสูงได้เต็มที่ ๑.๘ เมตร เราอาจตั้งสมมุติฐานได้ว่า ระยะทาง ๑ วา ของโบราณคือ ๑.๘ เมตร
๒ เทียบระยะจากของจริง  จำได้เลาๆ มีเอกสารบอกขนาดความกว้างยาวของกำแพงเมืองสุโขทัยเอาไว้ มีนักโบราณคดีไปวัดจริงๆ ปรากฎว่าเขาพบว่า ระยะทาง ๑ วาในสมัยสุโขทัยนั้น เท่ากับระยะประมาณ ๑.๘ เมตร

ก็ได้ข้อสรุปว่า สมัยโบราณนั้น ๑ วา ของไทย เท่ากับ ๑.๘ เมตร

อันนี้มันก็จะมีผลไปกับระยะทางอื่นอีก เช่น ระยะทาง ๑ คาวุต (๑๐๐ เส้น) ซึ่งเท่ากบ ๒๐๐๐ วา ก็จะเป็น ๓๖๐๐ เมตร โดยประมาณ (แทนที่จะเป็น ๔๐๐๐ เมตร อย่างที่บางคนเข้าใจผิด)
๑ โยชน์ ที่เราเคยเรียนกันมาในสมัยโรงเรียนว่า ๔๐๐ เส้น (๔ คาวุต) ถ้าเทียบกับ วา แบบโบราณ จะเท่ากับ ๑๔.๔ ก.ม. (ไม่ใช่ ๑๖ ก.ม.)
ส่วนระยะทาง มาตราส่วนอื่นๆ ก็ต้องปรับตามนี้

Thai traditional unit of measurement, Wa, still used in land measurements, has been defined by a law for about a hundred years ago as, 1.0 Wa equal to 2.0 Meter. Based on archeological and linguistic evidences, it was actually 1.8 meter, esp. in pre-Bangkok era. Other ancient measurement units also scaled to this, which is different from when one mistook as 1 ancient Wa was 2.0 meter, which is not true. 
Therefore, when interpreting very old manuscript, one should take this into consideration.


Wednesday, December 11, 2013

ป้ายห้ามสูบบุหรี่ น่ารักๆ

เมื่อวานนี้ไปเจอโดยบังเอิญ ป้ายห้ามสูบบุหรี่ ภาษาล้านนา ที่ปั๊มบางจากแถว ห้างฉัตร ลำปาง
เขาเขียนว่า "สูบมูลี ตี้นี่ โดนด่าเน้อ"
แปลเป็นไทยกลางได้ว่า "สูบบุหรี่ ที่นี่ โดนด่านะ"
ผมว่าถ้าอ่านออกเสียงมาเป็นสำเนียงคนเหนือแล้วน่ารักดี แถมฟอนต์ก็ใช้แบบที่ดูคล้ายอักษรโบราณหน่อย
ผมว่า น่ารักดีกว่าป้ายที่เห็นในกรุงเทพ ดูแข็งๆ ไร้อารมณ์


นึกได้ว่า เมื่อสามปีก่อน ตอนไปทริปเมืองลาว เคยถ่ายรูป ป้ายห้ามสูบบุหรี่ที่เมืองลาวมาด้วย ถ่ายมาจากร้านอาหารในโรงแรมที่เมือง วังเวียง เป็นภาษาลาว ก็น่ารักดี
ลองเทียบกันดู
ป้ายแรกเขาเขียนว่า "ขอบใจที่ท่านบ่สูบยา" ก็น่ารักดีเขาใช้คำตรงๆ ว่า สูบยา แทน สูบบุหรี่ (สมัยราวสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยเราก็เคยใช้คำนี้ ยุคนั้น ก่อนผมเกิด เราเคยเรียกบุหรี่ว่า ยากะแรต)
และก็ "เขตห้ามสูบยา"
ป้ายหลังนี้ค่อยข้างจะซีเรียสหน่อย



Note: I found cute 'No smoking' signs in northern Thai (Thai Lanna) dialect wordings (using central Thai scripts) compare to those in Lao scripts which I found in Laos earlier.