Sunday, November 24, 2013

สันดาป ไม่เท่ากับ เมตะบอลิสซึม


"Combustion" is not equal to "metabolism".

ซื้อหนังสือ โยงใยที่ซ่อนเร้น มาตั้งนานแล้ว เพิ่งมีโอกาสอ่าน
เล่มนี้แปลจาก The Hidden Connections ของ Fritjof Capra

เพิ่งอ่านไปบทเดียว "บทที่ ๑ ธรรมชาติของชีวิต" ผมก็รู้สึกทนไม่ได้กับการแปลเป็นไทยของคณะผู้แปล มีคำหนึ่งที่ผมยอมรับไม่ได้ คือการใช้คำว่า สันดาป แทนคำในภาษาอังกฤษว่า metabolism อย่างผิดๆ ผมซึ่งเรียนและเคยสอน ชีวเคมี มา ความรู้สึกยั๊วะอย่างไม่เคยมีมาก่อนผุดขึ้นมาให้เห็น ต้องเอาดินสอ 6B มาขีดคำนี้ออกหมดจากทั้งบท เพราะทนไม่ได้อย่างแรง

สันดาป มาจากภาษาบาลี สนฺตาป แปลว่าความร้อน ความบีบคั้น หนังสือวิทยาศาสตร์ไทยสมัยผมเรืยนชั้นประถมหรือมัธยม จะเคยมีคำนี้ ใช้แทนคำว่า combustion คือ การเผาไหม้ ซึ่งก็ตรงไปตรงมา

คำนี้ในไทยก็มีใช้หลายแบบ เช่น เมตะบอลิสซึม เมตะบอลิสม์ เมตาบอลิสซึม เมตะบอลิซึม อะไรทำนองนี้
ส่วนใน วิกิพีเดีย ใช้ เมแทบอลิซึม ผมว่าก็ดูสะกดดัดจริตดี ยังไม่ได้เช็คว่า ราชบัณฑิตยสถานให้ใช้อย่างไร

ไปเช็คดูที่ Longdo online dictionary จาก คลังศัพท์ไทย ของ สวทช. เขาแปลว่า การเผาผลาญ แต่ผมต้องขอค้าน ผิดอีก

metabolism ควรแปลว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงชีวเคมีภายในเซลล์ 
ถ้าจะว่าไป ปฏิกริยาเคมีหลายหมื่นปฏิกริยา โดยรวมนั่นแหละคือ เมตะบอลิสซึม ปฏิกริยาชีวเคมีต่างๆ นั้น มีหลายแบบ แบบหนึ่งเป็นปฏิกริยา ออกซิเดชั่น รีดักชั่น (oxidation-reduction reactions) เป็นเพียงแบบหนึ่งเท่านั้น ที่มีการเปลี่ยนระดับพลังงานของโมเลกุล และอาจมีการให้พลังงานออกมา และไปเก็บอยู่ในรูปของสารเช่น ATP หรือ creatine phosphate เป็นต้น ปฏิกิริยาแบบอื่นๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงระดับพลังงานของสารอย่างเด่นชัด อย่างน้อย oxidation state ของอะตอมในสารนั้นๆ ก็ไม่เปลี่ยนแน่ๆ

ถ้าคนไทยไม่คุ้นกับคำพื้นฐานนี้ เห็นทีจะก้าวไม่ทันกับเทคโนโลยีชีวภาพ

Wednesday, November 20, 2013

ปัญหาการใช้ภาษาไทยของผู้ออกสื่อโทรทัศน์


เจอข่าวนี้โดยบังเอิญ อ่านรายละเอียด ที่นี่

วันนี้ ๒๐ พ.ย. ๒๕๕๖ สถาบันภาษาไทยสิรินธร จัดแถลงข่าวโครงการวิจัย "การใช้ภาษาไทยในข่าวโทรทัศน์ : แนวทางปรับสู่ภาษามาตราฐาน"

สรุปได้ว่า จะมีการวิจัยช่วงต้นปี ๒๕๕๗ โดยเชิญชวนผู้อ่านข่าวโทรทัศน์และผู้รักภาษาไทยมาร่วมโครงการ

ผมขอแสดงความยินดีกับนักภาษาไทยที่ริเริ่มทำโครงการนี้ และขอขอบคุณ ในฐานะคนไทยคนหนึ่งซึ่งรักภาษาไทย