Thursday, January 23, 2014

ไม้ลื่น

ไม้ลื่น = สไลเดอร์ slider (คำนาม)
  ความหมายต่างไปจากคำว่า ไม้ลื่นๆ ซึ่งอันนั้นคงเป็น slippery wood

ผมกำลังอ่านหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนรุ่นหนุ่มคนหนึ่ง ในเรื่องเขาใช้คำว่า สไลเดอร์ ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ไม่ได้ใช้คำว่าไม้ลื่น
หรือว่าคนรุ่นใหม่บางส่วนไม่ค่อยรู้จักคำนี้ก็ไม่ทราบ ก็เลยต้องมาเก็บคำนี้ไว้หน่อย แต่ถ้าเป็นคนรุ่นผม ตั้งแต่เป็นเด็กมา ก็ใช้คำนี้ เพราะที่โรงเรียนมักมีไม้ลื่นให้เล่นกันทั้งนั้น ความจริงคำนี้ก็มีในพจนานุกรมไทยของราชบัณฑิตสถานมีนะ แต่ฉบับของมติชนไม่มีคำนี้




Wednesday, January 08, 2014

ทำไมสื่อมวลชน และคนไทยบางคนชอบใช้ศัพท์ฝรั่งปนไทย ?


ศาสตราจารย์เยอรมัน ผู้ก่อตั้งสมาคมภาษาเยอรมัน ออกมาบ่นกับหนังสือพิมพ์ว่า คนเยอรมันทำไมไม่เลิกนำมาภาษาอังกฤษมาใช้แทนคำในภาษาเยอรมันเสียที (Anglicization of German / Denglish)
ตามข่าวนี้

หลายปีก่อน ก็ออกมาทีหนึ่งแล้ว ตอนนั้นเรียกกันว่า Deutschlich

เขาบ่นว่า คำสำหรับบางความหมาย เช่น ไฮไลท์ มีศัพท์ภาษาเยอรมันตั้งแยะ แต่พวกสื่อและคนมักไม่ใช้ ไปใช้ภาษาอังกฤษคำเดียว ดูเหมือนว่า การใช้คำภาษาอังกฤษทำให้ฟังดูเหมือนกับว่าเป็นคนมีรสนิยม อะไรแบบนั้น

ผมมานึกถึงภาษาไทย ผมไม่ยักเห็นมีนักภาษาไทยคนไหนออกมาโวยวายกันบ้าง


นี่ว่ากันเฉพาะแค่ศัพท์นะ ยังไม่นับรูปประโยค ไวยากรณ์ ก็กลายเป็นสำนวนภาษาอังกฤษแบบอเมริกันไปมากแล้ว

อีกไม่นาน เมื่อคนรุ่นใหม่และคนในชนบทโดนกรอกหูด้วยสำนวนแบบนี้ของคนส่วนน้อยมากขึ้นทุกวันๆ ภาษาไทยก็จะ ภาษาไทยกลายเป็น ทิงลิช Thinglish หรือ ไทยลิช Thailish

แบบเดียวกับเด็กชาวเขาบนดอย ผมไปเจอมา รุ่นนี้พูดไทยแบบกรุงเทพฯ ชัดแจ๋ว ไม่มีสำเนียงแปร่งๆ ของคนชายแดน หรือผู้อพยพอีกแล้ว 

หรือแค่ไปเชียงใหม่ก็ไม่เจอเด็กหนุ่มสาวอู้กำเมืองกันเลย เสน่ห์เมืองเหนือหายไปหมด