วันนี้เป็นวันสำคัญ ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ และไม่เห็นว่าสำคัญ
๒๙ กรกฎาคม วันภาษาไทย … ไชโย ! (ผมชูกำปั้น แล้วหันมองขวาซ้าย มีแค่เราพูดอยู่คนเดียว)
อยากเขียนมานาน ทั้งๆ ที่ไม่มีดีกรีภาษาไทย ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ
แค่เป็นคนไทยตัวเล็กๆ ซึ่งใช้ภาษาไทยแค่นั้น
ดีเสียอีก ไม่มีหัวโขน ที่ไม่ต้องเกรงคนมาจับถอดออก(เพื่อ “เบิร์ด”กะโหลก)
เอาละหวา วันนี้ขอสักวัน ที่คนจบวิทยาศาสตร์จะมาขยายขี้เท่อความเห็นของตัวเรื่องภาษาไทย
หลายปีก่อน จำได้ว่าเคยอ่านเจอบทความต่างประเทศบทความหนึ่ง ชาวเยอรมันบ่นกันว่า ภาษาของเขา ที่เรียกกันว่า ดอยช์ (Deutsch) กลายเป็น เยอรมันแบบอังกฤษเข้า จนน่าจะเรียกว่า ดอยชลิชท์ (Deutschlish) ได้แล้ว ความหมายของเขาก็คือว่า รูปแบบการใช้ภาษาของคนรุ่นหลังเปลี่ยนไปมาก สำนวนเยอรมันกลายเป็นใช้ไวยากรณ์และคำอังกฤษแบบอเมริกันเข้ามาปนเต็มไปหมด ผมหันมารำพึงในทำนองเดียวกันกับภาษาไทยของเราบ้าง ก็เข้าอีหรอบเดียวกันนั่นแหละ ภาษาของคนกรุงเทพฯ หรือคนชั้นกลางตอนนี้ น่าจะเรียกว่าเป็น ไทยลิช (Thailish) ได้เหมือนกัน เรื่องนี้ผมเคยเขียนบล๊อกบ่นมาเมื่อหลายปีก่อน หนนี้ขอบ่นซ้ำ เป็นคำรบสอง
“ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” คำกล่าวที่เคยได้ยินหลายสิบปีมาแล้ว ไม่ทราบมาจากไหน แต่ผมเห็นว่าจริง โดยเฉพาะสำหรับคนสมัยนี้ (อยากจะหมายถึงคนในวัยที่อายุคงจะต่ำกว่า ๕๐ แต่คนสูงวัยกว่านี้ที่ทำอะไรเหมือนเด็กก็อาจจะมี) ที่จะกล่าวก็คือในบริบทของการใช้ภาษาไทย ขอเปลี่ยนประโยคเด็ดนั้นให้ชัดเจนขึ้นว่า “ใช้ภาษาเลวตามใจคือไทยลิช” (ไทยลิชในที่นี้ผมหมายถึง คนในประเทศไทย แต่จะหมายถึงภาษาไทยแบบอังกฤษก็ตามใจ)
ถ้านึกไม่ออกว่าไทยลิชเป็นยังไง ลองไปเปิดโทรทัศน์ฟังสำนวนข่าวที่ผู้ประกาศข่าวพูดตามบทกันเองบ้าง ว่าผมพูดจริงไหม
บอกตรงๆ (ไม่ใช่ “บ่องตง”) ผมไม่ทราบว่า หัวหน้าฝ่ายข่าวของสถานีโทรทัศน์แต่ละช่องไปจ้างใครที่ไหนมาเขียนบทข่าว ผมว่าส่วนมากน่าจะเป็นพวกคนรุ่นใหม่ที่อ่านภาษาไทยไม่แตก ชอบแปลสำนวนฝรั่งมาโต้งๆ ทั้งนั้น ความหมายก็คือ ส่วนมากเขาคงรูปแบบประโยคตามไวยากรณ์อังกฤษ ไม่ใช้สำนวนง่ายๆ แบบในภาษาไทยแบบดั้งเดิม (ถ้าจะให้นิยามหลวมๆ ผมนึกถึงภาษาไทยยุครัชกาลที่ ๖ หรือใครจะชอบย้อนยุค ไปถึงจดหมายราชฑูต “โกษาปาน” สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ก็ได้) นี่เป็นประเด็นแรก
(ประเด็นนี้ต้องอธิบายนอกเรื่องนิดหนึ่งว่า ผมไม่ได้ต่อต้านการใช้ศัพท์สมัยใหม่ ผมแค่รำคาญคนใช้ประโยคยาวๆ รุงรัง ฟุ่มเฟือยคำ เสียมากกว่า ถ้าใครเป็นหนอนหนังสือ อาจจะเคยอ่านเจอบ้างว่า ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ คนไทยก็บ่นกันมาแล้วเรื่องการใช้ภาษา ตัวอย่างคำว่า “ทำการ” ไม่ควรใช้ ไม่จำเป็น เพราะภาษาไทยไม่มี “present continuous” ซึ่งคำกิริยาต้องเติม ing อย่างในภาษาอังกฤษ อย่างเช่นที่มักอ่านข่าวกันว่า "ตำรวจทำการจับกุม" ก็ควรว่าไปเลยสั้นๆ ว่า "ตำรวจจับกุม" อย่างนี้เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องมีคำเยิ่นเย้อ อันนี้ท่านบ่นกันมาเมื่อร้อยปีที่แล้ว ผมสงสัยว่า เฉพาะคำนี้ อีกร้อยปีข้างหน้าคนที่รักภาษาไทยก็ยังคงบ่นกันได้ต่อไปอีก ถ้าภาษาไทยจะยังมีคนใช้อยู่ในอนาคต แต่ผมว่า นอกจากคำนี้ ยังมีคำและสำนวนเยิ่นเย้ออีกมาก ที่ควรตัดออกไปได้ให้กระชับ และความหมายตรงประเด็น)
แต่ครั้นเมื่อไรที่คนอ่านข่าวไม่อ่านตามบท พยายามด้นสดเอาเอง การใช้ภาษาของเธอ(และเขา)ก็เปลี่ยนฐาน (mode) กลับตาลปัต จากสำนวนฝรั่งพูดไทย ก็กลายเป็นคำพูดยาวๆ ไร้สาระ อ้อมค้อม วกวน ซ้ำไปมา น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง เหมือนกับพวก “ดีเจ”พูดออกวิทยุ คือพูดตั้งนานอาจสรุปเหลือใจความกระชับแค่ประโยคเดียวก็ยังได้ ดูเหมือนว่า ผู้ประกาศส่วนมากไม่สามารถสรุปใจความสำคัญ หรือไม่เป็นเอาเลย หรือว่า สักแต่ว่าพูดๆ ไป ถ่วงให้หมดเวลาเท่านั้น เรื่องพูดจาน้ำท่วมทุ่ง นี่เป็นประเด็นที่สอง
ผมเลยหงุดหงิด พาลไม่ดูโทรทัศน์ไปเลย รู้สึกว่าจะเสียเวลาเปล่า กลัวจะทำให้ฉลาดน้อยลง
ทำไมหงุดหงิดรึ ?
ก็ผมคิดไปไกลไง จะว่าให้ฟังย่อๆ ก็แล้วกันนะ
ผมไปนึกถึงกฏทางวิชาพันธุศาสตร์อันหนึ่ง (เอ๊ะ มันเกี่ยวอะไรด้วยกับภาษา ? คนอ่านสงสัยก็คงต้องทนอ่านต่อไปก่อน) เรียกว่า Hardy-Weinberg principle ซึ่งว่าด้วย สมดุลย์ของความถี่ทางจีโนไทป์ (genotype) หรือคุณลักษณะของยีนส์ในประชากร ความถี่ของคุณลักษณะของยีนส์ในประชากรนั้น ควรจะอยู่ในอัตราคงที่ “ถ้า”ไม่มีปัจจัยภายนอกเข้ามา (ผมใส่เครื่องหมายคำพูดเอาไว้ เพราะกรณีนี้เข้าข่ายเงื่อนไขที่ฝรั่งเรียกว่า “big if”) ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ สมมุติว่า ความถี่ของคนเพศชายกับเพศหญิงในสังคมน่าจะเป็น 0.5 : 0.5 เป็นต้น แต่ปัญหาก็คือ “มี”ปัจจัยภายนอกเข้ามา อย่างตอนนี้ อัตราส่วนของประชากร ชาย ต่อ หญิง ไม่ใช่เช่นนั้นอีกแล้ว ไม่ว่าจะสังคมจีนหรือสังคมไหนๆ ด้วยเหตุผลต่างๆ เพราะว่ามีปัจจัยภายนอกเข้ามานั่นเอง
ในทำนองเดียวกัน เมื่อเราพูดถึง วิวัฒนาการของภาษา ถ้าไม่มีปัจจัยภายนอกเข้ามามีผล แต่ละภาษาในแต่ละสังคมก็พัฒนาไปเรื่อย ตามเงื่อนไขของสังคมที่เปลี่ยนไป อันนี้เป็นเรื่องดี ภาษาใดไม่พัฒนาก็คงเป็นภาษาที่ตายแล้ว แต่ถ้ามีปัจจัยภายนอกที่สำคัญเข้ามา มันก็กระทบอย่างมาก และเป็นผลต่อสังคมโดยรวมอีกด้วย อย่างกรณีที่ผมพูดถึง คนใช้ภาษาไม่ดีเพียงไม่กี่สิบคนออกอากาศทางโทรทัศน์ นี่พูดรวมตั้งแต่ คนเขียนบทอ่านข่าว ผู้ประกาศ ดีเจ ฯลฯ คนนั่งดูโทรทัศน์และดูจากวีดิโอคลิปอีกหลายสิบล้านคนทางบ้าน เมื่อเจอภาษาไทยห่วยๆ ก็รับรู้ และเกิดการเรียนรู้ตามไปด้วย และสำหรับบางคนที่เกิดชื่นชอบก็เกิดการเลียนแบบ เผลอแผล็บเดียว การรับรู้บางอย่างก็ของสังคม กลายเป็นค่านิยมของสังคมไปแล้ว
ขออีกสักดอกเหอะ! การที่พวกนักการเมืองไทยชอบใช้สรรพนามเรียกบุคคลที่ ๒ ว่า “ท่าน” นั้น ก็เข้าข่ายเรื่องนี้ สมัยก่อน ผมเรียนมาว่า คำว่า “ท่าน”นี้ คนรุ่นก่อนท่านใช้เป็นสรรพนามแทนคนระดับ หม่อมเจ้า หรือกับพระภิกษุ ถ้าเราไม่ได้พูดสนทนากับหม่อมเจ้า เราก็ไม่ต้องไปยอยกคนธรรมดาที่พูดด้วยว่าเป็นท่าน ตอนนี้ใช้กันเฝือจนเป็นแฟชั่นกันไปหมดแล้ว อยากจะเดาเอาเองว่า เพราะว่า คนทั่วไปมีตัณหาของตัวเอง อยากให้คนอื่นเขาเรียกตัวว่า “ท่าน” ด้วย ก็ใช้กันในสถานที่ต่างๆ ที่มีแต่ผู้ใส่สูทสากล สังคมไทยภายนอกที่ดูโทรทัศน์ได้ยินก็เอาอย่าง อยากเป็น “ท่าน” กันบ้าง คนสนทนากันก็ใช้คำนี้ ใช้กันใหญ่ (ขอประทานโทษ) แม้แต่ นายก อบต. ก็ยังเป็น “ท่าน”ได้ :-) เขียนตอบโต้กันบนเน็ตก็ใช้คำนี้ ก็เมื่อคำนี้กลายมาใช้กับคนธรรมดาสามัญเสียแล้ว (หม่อมเจ้ายกไว้ คงมีไม่มาก) กับพระภิกษุ เราจะเปลี่ยนไปใช้คำสรรพนามกับท่านว่ากระไร
ดูเหมือนเหตุการณ์บ่งชี้ว่า คนส่วนหนึ่งในสังคมไทยยึดติดและชอบเจ้ายศเจ้้าอย่าง ชอบมีหน้ามีตา ชอบให้คนสรรเสริญ แต่ไม่ชอบทำงานหนักเพื่อให้ได้หรือสมควรกับเกียรตินั้น (ดูอย่างพวก ด๊อกเตอร์ กำมะลอ มีเป็นแถวๆ ใครอยากเป็น ดร. แต่ไม่อยากเรียนเอง เป็นพ่อค้าเอาเงินไปซื้อเอามาก็ยังได้ และก็มาหลอกชาวบ้าน หลอกคนอื่นได้บางส่วน แถมทำเป็นลืมๆ หลอกตัวเองไปได้เสียอีก ความจริงเขาต้องวงเล็บท้ายชื่อด้วยว่า honoris causa ภาษาละตินแปลว่า กิตติมศักดิ์ และก็ตาม “ทำเนียม”ฝรั่งเขาไม่ใช้ ดร. นำหน้าชื่อกัน แต่คนไทยก็เอามาใช้กันเกร่อ) ผมอยากจะเดาไว้ก่อนเลยว่า สังคมไทยในอนาคต จะต้องมีคำพูดใหม่ที่ใช้แทน “ท่าน” ให้มันฟังดูสูงส่งยิ่งกว่าคำนี้อีก
อีกเรื่องหนึ่งก็ การใช้สะกดคำแบบแปลกๆ แผลงๆ ส่วนมากเจอบนเน็ต หรือ อีเมล์ มีมากจนเฝือ
ผมเดาเอาว่าเพื่อให้ผู้ใช้ภาษาสะกดผิดๆ นั้นเองรู้สึกดี ว่าไม่เหมือนใคร คล้ายสมัยเด็กๆ ที่เราได้ยินสำนวนพวกจิ๊กโก๋พูดกัน แต่นั่นได้ยินทางหู แต่ตอนนี้ เป็นลายลักษณ์อักษร บนเน็ต (ตัวอย่างเช่น บางคนจงใจเขียนว่า “หั้ย” แทนที่จะใช้คำที่ถูกว่า “ให้”, และก็ “บ่องตง” แทนที่จะเป็น “บอกตรงๆ” เป็นต้น) ผมอ่านแล้วก็หงุดหงิด บางคนที่ผมรู้จัก อายุอานามก็แยะแล้วก็ยังเอากับเขาด้วย อยากเป็นเด็กวัยรุ่น ผมได้แต่ถอนใจ หวังว่าปรากฎการณ์นี้จะเป็นแค่ชั่วคราว แต่ถ้าไม่ชั่วคราวละก็ ภาษาไทยวิบัติแน่ หากมีเวลาจะมาขยายความในโอกาสหน้าว่ามันเสียหายอย่างไร
อีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดคำแปลกๆ ก็เพื่อเป็นการจงใจเลี่ยงการเซ็นเซอร์คำ ของโปรแกรมกรองคำหยาบแบบลวกๆ (ผมหมายถึงการเขียนสคริปต์ฝีมือห่วยๆ บนเว็บ ประเภทใช้ RegEx ในภาษาใดก็ตามดึงเอาตัวอักขระบางส่วนออกไป เพื่อเปลี่ยนคำในบัญชีคำหยาบไปเป็น xxx อะไรทำนองนั้น โดยไม่สนใจว่า มันอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำที่ใหญ่กว่านั้น อย่างเช่น คำว่า “เหี้ยมหาญ” ถ้าแก้แล้วมันก็จะหลายเป็น “เxx้ยมหาญ” ใครเจอแล้วก็รู้สึกรำคาญ พอจะเข้าใจไหมครับ ? แต่ถ้าท่านยังไม่เข้าใจประโยคนี้ของผมก็ไม่เป็นไร) มันก็เลยมีคำประเภทว่า “กรู” แทน “กู” และ "มรึง" แทน "มึง" ฯลฯ จึงมีคำแปลกๆ งอกมาอีกเป็นสิบๆ คำ เพื่อหาทางอ้อมการตรวจคำด้วยสคริปต์ห่วยๆ พวกนั้น
อดไม่ได้นะครับ คนเรียนมาทางวิทยาศาสตร์ ก็ต้องวกไปพูดเรื่องที่ตัวเองพอรู้จนได้
เหวย ! สะใจจัง วันนี้ระบายอารมณ์
จบภาค ๑
No comments:
Post a Comment