คนไทยใช้ภาษาไทยแบบตามใจชอบมานาน.
ในความหมายของผมก็คือว่า, คนไทยไม่ค่อยระวังเรื่องการใช้ไวยากรณ์, นับประสาอะไรกับการสะกดคำ.
(คนรุ่นใหม่สะกดคำผิดเยอะมาก เมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนๆ. อันนี้อาศัยที่ดูๆ จากสื่อออนไลน์ต่างๆ.
นอกจากนี้,รูปประโยคแบบใหม่ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปมาก, ความหมายเพี้ยนไปเยอะ, สะแลงใหม่ๆ ก็มาก.)
การใช้ภาษาไทยในแบบเดิมๆ ก็แย่อยู่แล้ว คนไทยเราไม่ค่อยชอบเขียนอะไรให้ครบ: บางทีก็ละประธานของประโยคบ้าง ละ กรรมของประโยคบ้าง ไว้ในฐานที่เข้าใจ.
(ว่าแต่ว่า "อะไรคือประโยคในภาษาไทย" ในเมื่อ คนไทยมักไม่ใช้จุดไว้ท้ายประโยคแบบภาษาฝรั่ง. ผมเองก็ไม่ทราบคำตอบนี้เพราะผมไม่ใช่นักภาษาไทย, และไม่รู้มากพอ ?)
คนไทยไม่ใช้เครื่องหมายไวยาการณ์ กำกับเนื้อความกันมานานแล้ว นานเท่าไรไม่ได้ไปตาม แต่ว่า เท่าที่ผมดู จากหนังสือ ละครแห่งชีวิต ที่เป็นนวนิยายเรื่องแรกๆ สมัย ร. ๖ ก็มีเครื่องหมายไวยากรณ์อยู่ไม่มากนัก แต่พอมี . และ - และ ? ให้เห็น แต่ต่อๆ มา นักเขียนไทยน่าจะไม่ค่อยใช้กัน ทำให้คนทั่วไปไม่ค่อยใช้ไปด้วย
ปัญหาที่คนไทยมักไม่ใช้เครื่องหมายไวยาการณ์ เช่น ไม่ใช้จุด "." ก็ดี ไม่มี จุลภาค "," ก็ดี ทำให้เกิดปัญหาใหญ่แล้วตอนนี้ กล่าวคือ การตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตามไวยากรณ์ที่อธิบายในทางภาษาศาสตร์ว่า ข้อความประโยคเชิงซ้อนในกฎหมายที่เป็นปัญหานั้น อะไรเป็น ประธาน ของประโยคกันแน่ ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า กฎหมาย ตกเครื่องหมาย "," ไปอันเดียวเท่านั้น
ไปดูข่าวเอาเอง
ผมว่า, คนไทยน่าจะต้องถึงเวลามาใช้เครื่องหมายไวยากรณ์กันให้มากกว่านี้ละมัง, อย่างน้อยก็ในเอกสารสำคัญทางราชการ.
ผมอยากจะชี้ข้อสังเกตของผมไว้ตรงนี้ว่า, ในหนังสือพระราชนิพนธ์แปล เรื่อง "นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ" นั้น, ทรงใช้เครื่องหมายวรรคตอนไว้ตลอด, ทำให้ข้อความที่ทรงแปลมานั้นเป๊ะๆ มาก, แต่คนไทยส่วนมากไม่เห็นมีใครเจริญรอยตามพระยุคลบาท.
มีใครสังเกตหรือเปล่าว่าผมพยายามใส่เครื่องหมายไวยากรณ์ต่างๆ ไปมากพอสมควรในโพสต์นี้. ก็นับว่าต้องใช้ความพยายามพอสมควร เพราะขัดกับความเคยชิน. ทำอะไรตามใจ คือไทยแท้.
No comments:
Post a Comment